พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ ๑ (ฝาง)

พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ ๑ (ฝาง)พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ ๑ (ฝาง)
เรื่องและภาพ : ภูมิ นริศชาติ ตีพิมพ์ในนิตยสารคู่บ้าน
………………………………………………………………………….

สำหรับพสกนิกรชาวไทยแล้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นต้นแบบแห่งการศึกษาเรียนรู้ตลอดชีวิต ทรงมีพระราชสมัญญาว่า พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน ด้วยทรงประกอบพระราชกรณียกิจอันเป็นประโยชน์หลากหลายด้าน ทรงให้ความสำคัญด้านการศึกษา ทรงส่งเสริมการเรียนรู้ทั้งในและนอกระบบแก่ปวงชนชาวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ไม่เพียงแต่เราคนไทยเท่านั้นที่น้อมนำมาปฏิบัติ ชาวต่างชาติเองก็ยกย่องและปฏิบัติตามด้วยเช่นกัน

เพราะชีวิตคือการเรียนรู้ที่ไม่รู้จบ จึงขอถือโอกาสพาทุกท่านขึ้นเหนือ ไปชมพิพิธภัณฑ์พื้นที่ที่มีชีวิต “พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ ๑ (ฝาง)” เชียงใหม่ สถานที่ท่องเที่ยวเชิงการศึกษาด้านอุตสาหกรรมการเกษตรแปรรูป ที่ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวและจัดแสดงแนวพระราชดำริในการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

อาคารพิพิธภัณฑ์ฯ ออกแบบเรียบง่ายร่วมสมัย มีกลิ่นอายผสมผสานความเป็นไทยล้านนาและจีนยูนนานอย่างลงตัว ภายในจัดแสดงนิทรรศการ 3 หัวข้อหลัก ได้แก่ ส่วนแรก บอกเล่าวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของชาวบ้านยางในอดีต ผ่านการจัดวางและวีดิทัศน์ฉายลงบนผนังขนาดใหญ่ ถัดเข้าไปเป็นเป็นส่วนแสดงพระบรมฉายาลักษณ์ที่ทรงเสด็จพระราชดำเนินทรงงานใกล้ชิดพสกนิกรของพระองค์ในพื้นที่ทุรกันดาร อันเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการหลวง ใกล้กันนั้นจัดแสดงรถยนต์คันแรกที่ทรงพระราชทานให้ใช้งานเมื่อครั้งเริ่มก่อตั้งโรงงานหลวงฯ ส่วนที่ 2 บอกเล่าความเป็นมาของโรงงานหลวงฯ ผ่านแสงเงาที่เคลื่อนไหวไปมา ชวนให้จินตนาการว่าเป็นคนจริงๆ กำลังประกอบอาหารอยู่ และส่วนสุดท้าย เป็นเรื่องของ บริษัทดอยคำผลิตภัณฑ์อาหารจำกัด จัดแสดงผลิตภัณฑ์ในยุคแรกๆ ถัดไปเป็นโถงทางเดิน จัดแสดงภาพถ่ายโดยช่างภาพระดับชั้นแนวหน้า ภาพเกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนท้องถิ่นในชุมชนที่มีความหลากหลายเชื้อชาติ แต่กลับอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียวเป็นอย่างดี โซนสุดท้ายเป็นโรงเรือนเพดานสูงแบบโรงงาน จัดแสดงวีดิทัศน์ เล่าถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งเกิดอุทกภัย ตลอดจนจัดแสดงเครื่องจักร อุปกรณ์ สิ่งของต่างๆ ที่ได้รับความเสียหายในครั้งนั้นอีกด้วย ปิดท้ายด้วยส่วนของที่ระลึกและผลิตภัณฑ์อาหารจากดอยคำ มีทั้งขนมกรุบกรอบ ผลไม้แปรรูป เครื่องดื่มต่างๆ หรือหากอยากนั่งพักเหยียดขา สามารถขึ้นไปที่ชั้นลอยซึ่งจัดเป็นห้องสมุดแบบนั่งพื้น มีภาพถ่ายขาวดำจัดแสดงและหนังสือน่าสนใจคอยให้บริการ

อาคารตรงข้างพิพิธภัณฑ์ฯ เป็นส่วนของโรงงานหลวงฯ อาคารร่วมสมัยหลังคาสูง มีอัตลักษณ์แบบไทยจีนแสดงให้เห็นอยู่ทั่วไป ระเบียงทางเดินโดยรอบออกแบบมาเพื่อให้คนภายนอกมองเห็นถึงขั้นตอนและกรรมวิธีต่างๆ ก่อนจะกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารให้เราได้ลิ้มรสกัน บรรยากาศภายนอกร่มรื่นสบายตา ตกแต่งด้วยไม้ดอกและไม้ใบอย่างสวยงาม เนื่องจากที่นี่เคยเกิดภัยธรรมชาติร้ายแรงมาก่อน ทางโรงงานหลวงฯ จึงสร้างแนวเสาคอนกรีตสูงเรียงรายเพื่อลดแรงปะทะ ป้องกันก้อนหินและท่อนไม้ที่มาพร้อมกับน้ำป่าและดินถล่ม อีกทั้งยังมีฝายธรรมชาติช่วยชะลอน้ำป่าอีกแรง