Tua Pen Not – บ้านคุณ พิชากร ชูเขียว
เรื่องและภาพ : ภูมิ นริศชาติ ตีพิมพ์ในนิตยสารคู่บ้าน
————————————————–
หลายคนคงคุ้นเคยกับขยะรีไซเคิล(Recyle) คือการนำขยะมาผ่านกระบวนแปรรูปเป็นวัตถุดิบแล้วนำกลับมาผลิตใหม่อีกครั้ง เช่น แก้ว กระดาษ โลหะ พลาสติกเป็นต้น แตกต่างจากการนำขยะมาอัพไซเคิล (Upcycle) ซึ่งคล้ายๆ กับการประดิษฐ์ของใหม่โดยใช้วัสดุที่เป็นขยะแล้วมาเพิ่มเติมไอเดีย ฟังก์ชั่นการใช้งาน และมีความสวยงามน่าใช้ วันนี้ “คู่บ้าน” จะพาไปรู้จักกับ คุณน็อต พิชากร ชูเขียว ศิลปินเจ้าของบ้านและเจ้าของแบรนด์ Tua Pen Not เป็นหนึ่งแรงบันดาลใจที่ทำให้เราเห็นว่า ของไร้ค่ายังมีคุณค่าเสมอ
โฮมสตูดิโอแห่งนี้ตั้งอยู่ในซอยเล็กๆ ที่ร่มรื่นด้วยร่มไม้ใหญ่ ความเงียบสงบของที่นี่ทำให้เกิดผลงานสร้างสรรค์ชิ้นใหม่ๆ มากมาย
“บ้านหลังนี้ สร้างตอนที่ยังเรียนอยู่คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คุณพ่อเป็นคนออกแบบโครงสร้างทั้งหมด ส่วนผมออกแบบตกแต่งภายในเอง โดยอิงจากความชอบส่วนตัวและคำนึงถึงไลฟ์สไตล์ของสมาชิกในครอบครัวเป็นหลัก เดิมจะมีแต่ตัวบ้าน ยกพื้นสูง เพื่อเป็นที่เก็บของ แต่พอได้ทำงานของตัวเอง จึงดัดแปลงใต้ถุนให้กลายมาเป็นที่ทำงาน และต่อเติมอาคารออกไปอีกเพื่อเป็นร้านขายของและสตูดิโอทำงานศิลปะ”
ทางขึ้นบ้านใช้ทางลาดเอียงแทนการทำบันได ด้านหน้าเป็นระเบียงไม้ราวเหล็กยาวตลอดแนวก่อนจะเข้าไปสู่ตัวบ้าน ซึ่งวางตัวตามแนวขวางของพื้นที่ ตกแต่งภายในด้วยสไตล์ลอฟท์ เน้นการโชว์โครงสร้างและพื้นผิวสัมผัส เดินท่อสายไฟแบบลอยตัว พื้นปูขัดมันลงสีพื้นอีพ็อกซี่สีเทาเข้ม โดยไม่ลืมเว้นช่องเพื่อเขียนชื่อแบรนด์ของตัวเองลงไปด้วย ผนังบางส่วนใช้สีขาวเรียบๆ บางส่วนเป็นปูนเปลือยขัดมัน และโดดเด่นด้วยผนังก่ออิฐมอญ พื้นที่ทั้งหมดเชื่อมต่อถึงกัน ตั้งแต่พื้นที่อเนกประสงค์จัดเป็นที่นั่งเล่น รับแขก และจัดแสดงผลงานไปด้วยในตัว ส่วนใหญ่เป็นงานเพ้นท์ Abstract ที่คุณน็อตถนัด สุดทางอีกด้านเป็นครัวและส่วนรับประทานอาหาร โดยห้องนอนจะยกพื้นขึ้นอีกระดับ เชื่อมต่อด้วยบันไดโครงเหล็กและลูกนอนไม้ มีชานพักก่อนจะเข้าไปในห้อง ประตูสีเหลืองสดล้อกับโครงเพดานเหล็กสีเหลือง ซึ่งกลับเอาฝ้าเพดานไปอยู่ด้านนอกแทน ห้องนอนเรียบง่ายเพื่อการพักผ่อนที่แท้จริง จึงมีเพียงของใช้จำเป็นเท่านั้น ตู้เสื้อผ้าเป็นแบบบิ้วท์อิน ปรับใช้ลอนสังกะสีทำเป็นฝาตู้ แม้แต่โต๊ะหัวเตียงยังทำหน้าที่เป็นโคมไฟส่องสว่าง ซึ่งเป็นหนึ่งในผลงานของคุณน็อตที่ได้แรงบันดาลใจมาจากฝนนั่นเอง
“ผมชอบความเป็นสัจจะวัสดุ ไม่มีการปรุงแต่ง ไม่ต้องเนี้ยบ เหมือนกับงานของผม จะไม่มีการสเก็ต คิดแล้วทำทันที พอหล่อคานหรือทำพื้น ผนังเสร็จ ก็สวยเลย ไม่ต้องฉาบก็สวย เพราะความไม่สมบูรณ์คือความงามที่สมบูรณ์แล้ว”
ส่วนที่ต่อเติมเพิ่ม แบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกเป็นห้องสำหรับขายสินค้าและแสดงผลงาน เพดานค่อนข้างต่ำเพราะทำเป็นแนวเดียวกับคานเหล็กที่มีอยู่เดิม พื้นที่ทอดตัวยาวไปสู่ห้องทำงานซึ่งเชื่อมกับส่วนสตูดิโอ ด้านบนทำเป็นลานหญ้า เพิ่มพื้นที่สีเขียวสบายตา ห้องทำงานตรงทางเชื่อมนี้ คุณน็อตใช้เวลาส่วนมากในการออกแบบงานกระสอบ จะได้ผลงานประเภทสมุดและกระเป๋า ถัดไปเป็นส่วนทำงานเหล็ก และต่อไปยังชั้นล่างของอีกอาคารสำหรับงานปูนและพ่นสี ส่วนนี้เปิดโล่งรับแสงธรรมชาติ พื้นผิวผนังโชว์ความดิบ เจาะช่องแสงหลากลายขนาดให้ดูน่าสนใจ ชั้นบนเป็นส่วนทำงานเพ้นท์ซึ่งเชื่อมต่อไปยังระเบียงที่ติดกับห้องนอนอีกด้วย
“Tua Pen Not ได้แรงบันดาลใจมาจากของเหลือใช้ ของที่คนอื่นไม่เห็นค่า เอามาดัดแปลง สร้างสรรค์ไอเดีย ใส่กระบวนการคิด เพิ่มกิมมิคเข้าไปและใช้งานได้จริง จากของไร้ค่ากลายเป็นของมีคุณค่า มีราคา หลังจากลองผิดลองถูก ก็พบแนวทางของตัวเองชัดเจนขึ้น งานแต่ละชิ้นที่ออกมาจะไม่ซ้ำกัน ทุกชิ้นเป็นงานออริจินัลทั้งหมด ขึ้นอยู่กับว่า ณ เวลานั้นเราได้อะไรมาเป็นวัตถุดิบ”
งานของคุณน็อตมีจำหน่ายทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ชื่นชอบงาน eco product และงาน recycle art product